ค้นหาบล็อกนี้

27/12/62

ยาสุกุนิ เมื่อการเมืองอยู่เหนือความเชื่อ

    สำหรับประเทศไทยของเราแล้วความเชื่อย่อมอยู่เหนือการเมือง และการเมืองไม่สามารถจะไปยับยั้งความเชื่อได้ แต่สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นมีสิ่งหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงคติของคนไทยบางส่วนได้ เมื่อศาลเจ้าตามศาสนาชินโตที่ตั้งบนประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “ยาสุกุนิ” เป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่การดึงการเมืองเข้ามาพัวพนจนการเมืองนั้นอยู่เหนือความเชื่อของคนญี่ปุ่นไป
ก่อนอื่นเลยเรามาย้อนดูดีกว่าว่าศาลเจ้ายาสุกุนิมีความสำคัญอย่างไร ถึงสามารถนำการเมืองมาพัวพันจนเป็นปัญหาระดับประเทศได้ถึงเพียงนี้ เพราะเดิมทีศาลเจ้ายาสุกุนิเป็นเพียงศาลเจ้าที่เอาไว้เป็นที่เก็บป้ายสถิตดวงวิญญาณเพื่อระลึกถึงเหล่าดวงวิญญาณของทหารฝ่ายรัฐบาลที่ตายไปในสงครามโค่นล้มโชกุน ตามคติความเชื่อดั้งเดิมของทางศาสนาชินโต ศาสนาที่เป็นพื้นฐานให้สิ่งต่างๆในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราของเรา ไม่ว่าจะข้าวเพียงเมล็ดเดียว อากาศที่เราใช้หายใจ หรือแม้แต่ประตูหรือหน้าต่าง ก็ล้วนแต่มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ทั้งสิ้น มนุษย์ก็เช่นกัน ล้วนแล้วแต่มีความเป็นเทพภาวะสถิตอยู่ในตัว




เมื่อมนุษย์นั้นตายลง วิญญาณของมนุษย์ในสภาพของวิญญาณคนเป็นจะแปรสภาพไปเป็นภาวะของวิญญาณคนตาย ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า “มิทามะ” (御魂) ซึ่งวิญญาณนั้นจะมีความยิ่งใหญ่มากแค่ไหน จะวัดจากสิ่งที่กระทำของแต่ละดวงวิญญาณในคราวที่วิญญาณตนนั้น ยังคงเป็นมนุษย์อยู่ หากสร้างวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ (วีรกรรมที่ว่าไม่ได้เจาะจงแค่ความดีเท่านั้น สิ่งที่เป็นสิ่งชั่วช้าหากทำแล้วส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ก็นับเป็นวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน) ลำดับศักดิ์ของวิญญาณก็จะสูง แต่ถ้าหากทำน้อยลำดับศักดิ์ของวิญญาณก็จะต่ำ ซึ่งวิญญาณที่สร้างวีรกรรมมาอย่างยิ่งใหญ่ในตอนที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะอยู่ในภาวะที่เป็นวิญญาณเทพที่มีอำนาจ ซึ่งมีชื่อว่า “มิทามะ”(神霊) (อ่านเหมือนกันแต่เขียนไม่เหมือนกัน)
ตามหลักของศาสนาชินโตนั้น จะมีหลักที่ว่าด้วยเรื่องของดวงจิตและวิญญาณอยู่ 1 หลักการและนั่นก็เป็นเหตุผลอธิบายในสิ่งต่างๆของศาสนาชินโตด้วย หลักการนั้นมีชื่อว่า อิจิเรย์ ชิคง ที่บอกถึงว่าในมนุษย์เรานั้นมีดวงจิต 1 ดวงจิตและมีอีก 4 ดวงวิญญาณประกอบอยู่นั่นเอง ซึ่ง 4 ดวงวิญญาณนั้นประกอบไปด้วย

1. 荒御魂 อารามิทามะ เป็นสภาพวิญญาณที่โกรธเกรี้ยว อาฆาต ดุร้าย และสร้างภัยพิบัติ
2. 和御魂 นิงิมิทามะ เป็นสภาพวิญญาณปกติ นิ่งสงบไม่ก่อสิ่งใด
3. 幸御魂 ชิกิมิทามะ เป็นสภาพวิญญาณที่มีสุข
4. 奇御魂 ซากิมิทามะ เป็นสภาพวิญญาณที่ไม่อยู่กับที่ คอยพเนจรร่อนเร่ไปมา
ตามความเชื่อแล้ว เมื่อคนเราตายลง ดวงวิญญาณทั้ง 4 จะแยกออกจากกันและจะส่งผลต่อธรรมชาติรอบตัว    ไม่ว่าจะเป็นภัยหรือไม่เป็นภัย ทำให้ชาวญี่ปุ่นมักจะทำให้ดวงวิญญาณทุกดวงกลายเป็นนิงิมิทามะดวงวิญญาณในสภาพปกติ หรือชิกิมิทามะดวงวิญญาณที่มีสุขเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขนั่นเอง


ชาวญี่ปุ่นนั้นจะสร้างป้ายบูชาวิญญาณหรือตั้งสุสานเอาไว้ เพื่อไม่ให้ดวงวิญญาณคนตายกลายเป็นซากิมิทามะหรือดวงวิญญาณเร่ร่อนพเนจร และเจ้าสร้างศาลเจ้าชินโตเอาไว้เลยเพื่อสะกดวิญญาณในรูปแบบอารามิทามะรูปแบบดวงวิญญาณที่เป็นภัยต่อมนุษย์มากที่สุด เพราะเป็นวิญญาณอาฆาตวิญญาณที่ยังคงมีความโกรธเกรี้ยวดุร้ายอยู่ ซึ่งสามารถสร้างภัยพิบัติ โรคร้าย หรือความโชคร้ายใส่มนุษย์ได้ การสร้างศาลเจ้าจึงเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยสะกดอารามิทามะเอาไว้เพื่อเปลี่ยนเป็นนิงิมิทามะได้นั่นเอง

หากเราเข้าใจความเชื่อของศาสนาชินโต เราก็จะเข้าใจได้ว่าศาลเจ้ายาสุกุนินี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้เหล่าวิญญาณของนักรบที่ต้องตายไปในคราสงครามโค่นล้มระบบโชกุนกลายเป็นอารามิทามะอันโหดร้ายนั่นเอง ไม่ใช่เป็นศาลเจ้าที่สร้างระลึกถึงคนไม่ดีหรือพวกป่าเถื่อนที่ไหน และแน่นอนว่าศาลเจ้ายาสุกุนินี้ได้เก็บป้ายวิญญาณของนักรบทุกคนจากทุกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามโบะชิง(สงครามโค่นระบบโชกุน) สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทหารของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายชาวญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนดวงวิญญาณของศัตรูทางญี่ปุ่นก็สร้างเอาไว้เหมือนกัน โดยใช้ชื่อว่าศาลชินเรย์ฉะ ซึ่งจะเป็นศาลเล็กๆที่อยู่ทางซ้ายมือของศาลเจ้ายาสุกุนิ

ศาลเจ้าชินเรย์ฉะ

หากมันเป็นไปตามประวัติศาสตร์ ความเชื่อและความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะสามารถเข้าใจได้เลยว่าศาลเจ้าแห่งนี้แทบจะโยงเข้าสู่การเมืองระดับประเทศได้น้อยมาก แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาศาลเจ้ายาสุกุนิถูกโยงเจ้าสู่การเมืองทุกครั้งหากมีการพูดถึง เหตุผลต่างๆที่ศาลเจ้ายาสุกุนิถูกพูดในเชิงการเมืองระดับประเทศนี้มีเพียงสาเหตุเดียวนั่นก็คือ การตีความเชิงประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ได้จารึกถึงความโหดร้ายของญี่ปุ่น ที่ทำเลวระยำเอาไว้กับประเทศเพื่อนบ้านโดนเฉพาะจีนกับเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองชาติมองประเด็นการเมืองจากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมองศาลเจ้ายาสุกุนิก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายของญี่ปุ่น จากการที่เป็นที่เคารพวิญญาณของอาชญากรสงครามของจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากอาทิ ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงคราม , มิตสึอิ อิวาเนะ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในการรุกรานเมืองนานกิง และมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่เมืองนานกิง นอกจากนี้ศาลเจ้าแห่งนี้ยังถูกมองเป็นสถานที่แห่งการดัดแปลงประวัติศาสตร์อีกด้วย จากพิพิธภัณฑ์ยูชูคังที่อยู่ด้านข้างศาลเจ้า พิพิธภัณฑ์แห่งการบิดเบือนโดยการไม่พูดโกหก พิพิธภัณฑ์ชาตินิยมที่หยิบเอาแต่เรื่องของความดีที่ทหารญี่ปุ่นทำโดยไม่พูดถึงสิ่งเลวร้าย ยิ่งตอกย้ำว่าญี่ปุ่นไม่เคารพประวัติศาสตร์ และไม่สำนึกถึงความโหดร้ายที่เคยทำเอาไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยด้วย

ความขัดแย้งนี้ทำให้แม้แต่องค์จักรพรรดิก็ไม่ค่อยที่จะอยากมาสักการะศาลเจ้านี่สักเท่าไหร่ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นทางการเมืองที่พาดพิงมาสู่พระองค์ และเป็นสัญลักษณ์ในเชิงว่าองค์จักรพรรดิเองก็ไม่ได้ยอมรับถึงประวัติศาสตร์ในแบบของยาสุกุนิเหมือนกัน แต่สำหรับนักการเมืองบางส่วนไม่เป็นเช่นนั้น อย่างเช่นตอนสมัยของนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจากพรรค LDP โคอิซูมิ จุนอิจิโร (พ.ศ.2544 – พ.ศ.2549) ได้เข้าไหว้สักการะศาลเจ้ายาสุกุนิขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลายเป็นนายกคนแรกที่เข้าไปไหว้ศาลเจ้านี้โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม โดยตลอด 5 ปีในตำแหน่งของเขา เขาเข้าไปไหว้ศาลเจ้านี้เกือบทุกปี และทุกครั้งที่นายกหรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเข้าไปในศาลเจ้านี้ ก็ย่อมเป็นดราม่าและกระทบความสัมพันธ์ของประเทศทุกปี และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ตกต่ำเข้าทุกปี



ถ้าผิดพลาดประการใด ผู้ทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และสามารถช่วยเสริมความถูกต้องได้ในคอมเม้นต์นะครับ



ถ้าชอบบทความของเราอย่าลืมคอมเม้น กดติตตามหรือกดแชร์บทความของเรานะครับ



สนับสนุนผู้ทำบทความได้้ที่ TrueMoney Wallet 0642303231 (ขอขอบพระคุณมากครับ)


อ้างอิง
Koizumi ignores protests in final shrine visit(2549). จากhttps://www.theguardian.com
ศาลเจ้ายาสุคุนิ การบูชาดวงวิญญาณ ความไม่ยอมรับผิด และการทำใจให้อภัย. Theerapat Charoensuk(2561). จากhttps://www.the101.world

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น