ค้นหาบล็อกนี้

24/8/62

เกิดอะไรขึ้นในไต้หวัน หลังก็กมินตั๋งเข้ามามีอำนาจ


      สำหรับไต้หวันนั้น คือเกาะที่อยู่บริเวณตอนใต้ของจีน เดิมคือเกาะฟอร์โมซา ซึ่งเป็นของจีนมาโดยตลอด ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของดัชต์และญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ซึ่งด้วยความที่ตกเป็นอาณานิคมของสองชนชาติมาก่อน ทำให้ไต้หวันสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนไต้หวันไป โดนเฉพาะในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นหวังยึดไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตนเลย ไม่ได้คิดที่จะให้เป็นอาณานิคมทั้งนั้น ผลที่ได้หลังจากนั้นคือ กลุ่มภาษาไต้หวันเดิมเริ่มหายไป ก่อนที่จะใช้ภาษาญี่ปุ่นแทน ไม่ใช่แค่นั้นวัฒนธรรม พิธีกรรมรวมทั้งประเพณีดั้งเดิมได้สูญเสียไป จากการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อพอไต้หวันถูกปลดปล่อยจากญี่ปุ่น ชาวไต้หวันก็มีความคิดที่ตีกัน พวกเขาไม่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากจีน หรือของพื้นเมือง แต่พวกเขาก็ถือว่าพวกเขาไม่ใช่ดัชต์ จีนหรือญี่ปุ่น แต่ถือตัวเองว่า พวกเขาคือ "คนไต้หวัน"



      ในขณะเดียวกัน เมื่อไต้หวันถูกปลดปล่อยจากการปกครองของญี่ปุ่น จีนที่เป็นเจ้าของดั้งเดิม ก็หวนไปสู่การทำสงครามกลางเมืองอีกครั้งในรอบที่สองหลังจากที่ทั้งรัฐบาลก็กมินตั๋ง และรัฐบาลคอมมิวนิสต์จับมือร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1937 - 1945 แต่ก็ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร การต่อสู้ระลอกที่สองเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง

      แต่การต่อสู้ครั้งที่สองนี้ไม่เหมือนครั้งแรก รัฐบาลก็กมินตั๋งของเจียง ไคเชกไม่สามารถคุมเกมแบบที่เกิดขึ้นในการต่อสู้รอบแรกได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกคอมมิวนิสต์ภายใต่การปกครองของเหมา เจ๋อตุง สามารถปลุกระดมชาวนาที่มีเป็นจำนวนมาก ให้เข้าร่วมการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ได้ รวมทั้งการทุจริตคอรัปชั่นอย่างหนักที่ไม่สามารถแก้ได้ของทางก็กมินตั๋ง ทำให้รัฐบาลก็กมินตั๋งที่อเมริกาคอยสนับสนุนไม่สามารถที่จะมาต่อกรกับคอมมิวนิสต์ได้ และต้องเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่เสมอ เพราะความไร้เสถียรภาพภายในรัฐบาล และความเด็ดขาดในการปกครองของเจียง ไคเชก

ปืนใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการรบที่ Huaihai


การย้ายเมืองหลวงของรัฐบาลก็กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองจีน

     รัฐบาลก็กมินตั๋งเพลี้ยพล้ำในสงครามกลางเมืองจนต้องย้ายเมืองหลวงถึง 5 ครั้ง ก่อนลงเอยหนีไปตั้งหลักที่ไต้หวันในช่วงปี 1950 โดยก่อนที่จะลงไปไต้หวันนั้นในช่วงที่คอมมิวนิสต์ได้ตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งเพื่อปกครองประเทศจีนในปี 1949 เจียง ไคเชกได้ลาออกจากตำแหน่งผุ้นำสูงสุดของรัฐบาลก็กมินตั๋ง และส่งไม้ต่อให้ หลี่ ซงเหริน เป็นผู้นำของก็กมินตั๋งต่อ โดยในสมัยของหลี่นั้น รัฐบาลก็กมินตั๋งพยายามทำการเจรจาต่อรัฐบาลจีน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จและถูกต่อต้านจากคนจีนผู้รักชาติฝ่ายก็กมินตั๋งด้วย

    เมื่อการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เจียง ไคเชก จึงพาคนในรัฐบาล ทหารและประชาชนอพยพหนีพวกกองทัพคอมมิวนิสต์ี่ที่กำลังลงมาปราบรัฐบาลก็กมินตั๋ง โดยคาดการณ์ว่าการอพยพในครั้งนี้อพยพคนกว่า 2 ล้านคน หนีไปไต้หวัน โดยเมื่อเข็นคนในรัฐบาลไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ไทเปส่งผลกระทบอย่างมากตอไต้หวัน เพราะเกิดการแยกชนชั้นระหว่างคนไต้หวันเดิม กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะรัฐบาลบนเกาะไต้หวันเป็นรัฐบาลที่มาจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด การแบ่งแยกชนชั้นค่อยๆรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะทางรัฐบาลไม่ได้มองว่าจะอยู่ที่ไต้หวันไปตลอด แต่แค่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว และรอวันที่จะกลับไปยืนหยัดบนพื้นแผ่นดินใหญ่ต่อไป

    เนื่องจากรัฐบาลก็กมินตั๋งมองว่าไต้หวันเป็นเพียงแค่ที่พักชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ได้ใส่ใจลายละเอียดและความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีมากขึ้นจนสร้างความวุ่นวาย ซึ่งรัฐบาลก็กมินตั๋งในสมัยของเจียง ไคเช็กไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยเต็มๆ แต่เป็นรัฐบาลเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ทำให้มีการแก้ปัญหานี้โดยใช้กฏอัยการศึกมาตลอดสมัยของเขา ยาวมาจนถึงสมัยลูกของเขา เจียง จิงกั๋ว  นับเป็นกฏอัยการศึกที่ประกาศใช้ยาวนานเป็นลำดับที่สองของโลก โดยนับเวลาที่ประกาศใช้คือ 38 ปี จนถูกตั้งชื่อว่า "ความน่าสะพรึงสีขาว" (White Terror) เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สนใจให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียงในการออกความเห็น และมีการกำจัดผู้ที่เห็นต่างอย่างรุนแรง ด้วยข้อหาที่แสนจะpopularในยุคนั้นอย่าง การเป็นคอมมิวนิสต์ โดยจากการปราบปรามนี้ทำให้มีผู้ถูกจับเข้าตารางไปกว่า 200000 คน และสูญหายไปอีกหลายพันคน


       แม้รัฐบาลของเจียง ไคเชกจะเป็นรัฐบาลเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ที่แม้จะมีการเลือกตั้งมา 4 ครั้งแล้วจบลงด้วยชัยชนะของก็กมินตั๋งทั้งหมด (1954,1960,1966,1972) ก็ยังสลัดความเป็นเผด็จการออกไปไม่ได้ เนื่องจากกฏอัยการศึกของเจียงยังคงประกาศติดต่อกันโดยไม่มีการยกเลิก และในช่วงแรกที่ัรัฐบาลก่อตั้งขึ้นที่ไทเปนั้น ตลอดเวลาเจียงพยายามวางแผนกลับไปยึดจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยกำลังเสมอ เนื่องด้วยตอนนั้นไต้หวันได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐ รวมทั้งในเวทีสหประชาชาติที่ยังให้การยอมรับรัฐบาลของจีน(สาธารณรัฐ)อยู่ ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่การบุกจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนไต้หวันจะสามารถเอาชัยกลับมาได้

    นอกจากนี้ ในไต้หวันพวกมาเฟีย เจ้าพ่อและพวกค้ายากำลังเพิ่มมากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจพุ่งสูงติดต่อกัน คนจนก็จนเอา พวกขอทานก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน พิษเศรษฐกิจกำลังเริ่มแสดงผลออกมา แต่รัฐบาลก็ยังคงไม่ได้มาเหลียวแลกลุ่มคนชั้นรากหญ้าที่กำลังเผชิญภัยเศรษฐกิจ แต่สนับสนุนกลุ่มทุนและพวกมาเฟียที่ยังอุ้มชูค่า GDP และเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐก็ยังคงสนับสนุนไต้หวันอยู่ และอีกเหตุผลง่ายๆเลยที่รัฐบาลก็กมินตั๋งยังไม่หันมาพัฒนาเศรษฐกิจ ก็เพราะว่ารัฐบาลก็กมินตั๋งสนับสนุนทหาร และพยายามที่จะใช้กำลังทหารในการไปยึดจีนนั่นเอง

   ในช่วงหลังๆ การกดขี่ประชาชนเริ่มรุนแรงมากขึ้น เจียงสั่งห้ามการออกข่าวลงหนังสือพิมพ์ในเรื่องร้ายของรัฐบาล และแทนที่ด้วยโฆษณาชวนเชื่อมากมาย นอกจากนี้การล่าแม่มดทางการเมืองก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการส่งรายชื่อหรือบังคับให้นักโทษซัดทอดไปยังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ก่อนที่ทหารดำเนินการจับกุมบุคคลเหล่านั้น ผู้ที่ “อาจจะ” “น่าจะ” “คิดว่า” เป็นคอมมิวนิสต์โดยที่ไม่มีหลักฐานรองรับอย่างเพียงพอ และหากผู้ใดให้ที่พักพิงแก่กลุ่มกบฏ หรือ ผู้ที่มีหมายจับ ก็จะต้องได้รับโทษด้วยเช่นกัน โดยว่ากันว่าสถานกักกันจิ๋งเหม่ยอันเป็นคุกของนักโทษทางการเมืองนั้น มีโทษอยู่สองอย่างแค่นั้น คือไม่ประหารชีวิตก็จำคุกตลอดชีวิต


     อย่างไรก็ตามอำนาจเผด็จการมิอาจมิอยู่ล้นฟ้า เมื่อปี 1971 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ยอมรับจีนคอมมิวนิสต์ในการเป็นตัวแทนมากกว่าจีนไต้หวัน ทำให้ไต้หวันสูญเสียฐานอำนาจที่ยอมรับตัวเองไป รวมทั้งอเมริกาก็เริ่มเปิดสัมพันธ์กันจีนคอมมิวนิสต์ ไต้หวันกำลังถูกลอยแพไป บวกกับเจียง ไคเชกถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 1975 ไต้หวันต้องปรับตัวเข้ากับประชาธิปไตยสักที และการบุกโจมตีจีนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้แล้ว การที่ไต้หวันจะสามารถดำรงอธิปไตยไว้ได้ ต่องพึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมๆกันเท่านั้นๆ

   เจียง จิงกั๋วผู้นำคนต่อไปของไต้หวันหลังการเสียชีวิตของเจียง ไคเชก ประกาศพัฒนาประชาธิปไตย และเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ การปิดกั้นและกีดกันคนเห็นต่างเริ่มน้อยลงจนแทบไม่มี การปิดกั้นข่าวสารของประชาชนถูกยกเลิก สำนักข่าวสามารถรายงานข่าวได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่่จะยกเลิกการประกาศกฏอัยการศึกที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยของเจียง ไคเชกในปี 1987 ก่อนที่ในเวลาต่อมารัฐบาลของเจียง จิงกั๋วได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1988 เพราะการถึงแก่อสัญกรรมของเจียง จิงกั๋ว จากการเลือกตั้งได้หลี่ เติงฮุย เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป และนำไต้หวันเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และสานต่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันในช่วงสมัยเจียง จิงกั๋วที่ถูกเรียกว่า ความมหัศจรรย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน จนไต้หวันสามารถผงาดกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชียร่วมกับเกาหลีใต้ ฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ในที่สุด

ถ้าผิดพลาดประการใด ผู้ทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และสามารถช่วยเสริมความถูกต้องได้ในคอมเม้นต์นะครับ



ถ้าชอบบทความของเราอย่าลืมคอมเม้น กดติตตามหรือกดแชร์บทความของเรานะครับ



สนับสนุนผู้ทำบทความได้้ที่ TrueMoney Wallet 0642303213 (ขอขอบพระคุณมากครับ)

อ้างอิง
28 ก.พ. 1947 ประวัติศาสตร์ที่แสนเศร้าของไต้หวัน. จากhttps://medium.com
Republic of China retreat to Taiwan(2562). จากhttps://en.wikipedia.org
“เจียง ไคเชก” จับคนเห็นต่างเข้าตาราง ด้วยกฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลก(2562). จากhttps://thepeople.co
ไต้หวันผงาดบนเวทีโลกจากความผิดพลาดของเจียง ไคเช็ก(2552). จากhttps://mgronline.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น