ค้นหาบล็อกนี้

25/3/62

การจลาจลในบรูไน ปัญหาการรวมชาติที่นำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาค


 หลังจบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆทั่วทุกมุมบนโลกใบนี้ได้พยายามที่จะปลดปล่อยดินแดนและอาณาจักรเดิมของตนให้เป็นเอกราชไม่เป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกอีก ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของลัทธิจักรวรรดินิยมและการเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปก็ถูกแทนที่โดยอเมริกาและโซเวียต และเจ้าสู่ยุคสงครามเย็น

 ในขณะนั้นสถานการณ์ในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะข้างเคียงก็เดือดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงกับดัชต์อีสต์อินดีส(เนเธอร์แลนด์)อีกต่อไปในปี 1949 ซึ่งนั่นก็ยิ่งจุดไฟการอยากเป็นเอกราชให้กับหลายรัฐแถบคาบสมุทรมลายู แต่ด้วยที่แต่ละรัฐแยกกันและมียังดีเปอร์ตวนแต่ละองค์ครองรัฐต่างๆเอาไว้ ทำให้การเจรจาเพื่อเอกราชค่อนข้างที่จะลำบากและไม่ประสบผลสำเร็จนัก และด้วยแต่ละรัฐก็มีคนอินเดียและคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่มาก และพวกคนเหล่านั้นก็ประสบความสำเร็จด้านการค้าขายและความเป็นอยู่ก็ดีกว่าชาวมลายูที่เป็นคนพื้นเมืองเดิม ทำให้แนวคิดที่จะรวมรัฐต่างๆของชาวมลายูเข้าด้วยกันตามแนวคิดของ มุนชี อับดุลลอฮ์ ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เริ่มถูกนำมาใช้ในทางการเมืองอีกครั้ง โดยเหล่านักชาตินิยมชาวมลายูไม่ว่าจะเป็น ฮิกายัต อับดุลอฮ์ และ อิบรอฮิม ยะห์กู๊บ จนในที่สุดก็รวมรัฐต่างในแหลมมลายูกลายเป็นสหพันธรัฐมาลายาได้สำเร็จ แม้จะยังคงเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอยู่ก็ตาม

 เมื่อสหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 ก็เกิดข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับทางอินโดนีเซียขึ้น บนเกาะบอร์เนียวซึ่งข้อพิพาทเรื่องดินแดนนี้นั้นมันมีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงช่วงนั้น โดยสหพันธรัฐมาลายานั้นพยายามที่เชิญชวนใ้ห้รัฐของชาวมลายูที่อยู่ในฐานะบริติชบอร์เนียว มาร่วมกับสหพันธรัฐ โดยรัฐเหล่านั้นก็มี ซาราวัก บรูไน และบอร์เนียวเหนือ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งให้อินโดนีเซียต้องเขม่นต่อมาลายาเพราะเป็นพื้นที่พิพาท

 กลับมาในบรูไน สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีนที่ 3 แห่งบรูไนสุลต่านและประมุขสูงสุดของรัฐบรูไนมีความคิดและพระประสงค์ที่จะพาบรูไนเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาลายาตามคำเชื้อเชิญของทางการมาลายา โดยมีแนวคิดที่จะเจรจากับทางมาลายาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ 

สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีนที่ 3 
 แต่การตัดสินใจที่จะนำบรูไนไปเป็นส่วนหนึ่งของมาลายานั่น องค์สุลต่านเป็นผู้ตัดสินใจเองโดยปรึกษาแค่ที่ปรึกษาส่วนพระองค์เท่านั้น หาได้ปรึกษาหารือกับสภาหรือประชาชน และในขณะเดียวกันพรรคประชาชนบรูไนที่เป็นพรรคฝ่ายค้านภายในสภา และเป็นพรรคที่กำลังมีอิทธิพลมากในบรูไนเวลานั้นไม่เห็นด้วยกับการที่จะรวมบรูไนให้เป็นส่วนหนึ่งของมาลายา โดยเชค อาซาฮารี บิน เชค มะฮ์มูด หรือรู้จักกันในนามสั้นๆว่า ดร.อาซาฮารี หัวหน้าพรรคของพรรคประชาชนบรูไนได้เสนอว่าควรรวมรัฐต่างๆในบริติชบอร์เนียวเป็นหนึ่งเดียวในฐานะ รัฐบอร์เนียวเหนือ เพื่อความเป็นเอกภาพซึ่งดีกว่าการไปรวมเข้ากับมาลายา 

แม้รัฐบาลเดิมจะไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอของฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตที่องค์สุลต่านพยายามจะรวมบรูไนเข้ากับมาลายาได้ ควานิยมในรัฐบาลตกต่ำลง และคะแนนเสียงก็ถูกเทให้พรรคประชาชนบรูไนที่เป็นฝ่ายค้าน และเมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้นในปี 1961 ผู้คนชาวมลายูได้เทคะแนนไปยังพรรคประชาชนบรูไนของอาซาฮารี และทำให้อาซาฮารีสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เพียงแต่ยังรัฐบาลยังไม่มีอำนาจมากพอ เพราะยังมีสุลต่านและเจ้าอาณานิคมอังกฤษปกครองอยู่อีกทอดหนึ่ง ซึ่งพวกนั้นมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลมาก

 แต่อาซาฮารีในฐานะผู้นำรัฐบาลพยายามผลักดันการรวมรัฐบรูไน ซาราวักและซาบะฮ์เข้าด้วยกัน เป็นรัฐบอร์เนียวเหนือเพื่อความเป็นเอกภาพ และนอกจากนี้เขายังพยายามบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อเอามาปกครองรัฐและเพื่อไม่ให้บรูไนไปเข้าร่วมกับมาลายาอีกด้วย แต่ว่าความพยายามของเขากลับไม่สามารถที่จะไปต่อได้ เพราะฝ่ายค้านและสุลต่านไม่เห็นด้วยกับการนโยบายของอาซาฮารี

อาซาฮารี(ซ้าย)กำลังนั่งคุยกับองค์สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดินที่ 3(ขวา)
  เมื่อนโยบายของอาซาฮารีไม่ประสบผลสำเร็จนักในสภา และมาลายาก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อรัฐต่างๆบนเกาะบอร์เนียว อาซาฮารีเห็นว่าถ้าปล่อยไปอย่างงี้บรูไนต้องถูกรวมเข้ากับมาลายาแน่ๆ ทำให้อาซาฮารีและพรรคของเขาวางแผนก่อกบฏ โดยใช้ทหารเข้ามามีส่วนด้วย โดยแผนการของเขาคือการควบคุมแหล่งน้ำมันภายในประเทศ และจับกุมสุลต่านเพื่อให้รับรองการจลาจลและอำนาจของสภา


 การจลาลจลนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1962 กองทหารของบรูไนเข้าโจมตีสถานีตำรวจต่างๆภายในประเทศ ก่อนที่จะเข้าไปยึดแหล่งขุดเจาะน้ำมันในเขตเมืองเซอเรีย ก่อนที่จะพยายามเข้าไปกุมตัวสุลต่านในพระราชวัง แต่องค์สุลต่านก็ไหวตัวทันรีบแจ้งขอความช่วยเหลือกับอังกฤษเจ้าอาณานิคม ก่อนหลบหนีซ่อนตัวในพระราชวัง เพื่อให้การจลาจลนี้ไม่เป็นที่ยอมรับขององค์สุลต่าน แต่ทว่าการจลาจลที่เกิดขึ้นในบรูไนไดสร้างความเสียหายอย่างมากแถมยังกระจายความวุ่นวายเข้าสู่เขตรัฐซาราวักและซาบะฮ์อีกด้วย


ทหารอังกฤษในเขตเมืองเซอเรีย เมืองที่เป็นแหล่งขุดน้ำมันรายใหญ่ในบรูไน

 หลังจากทีสุลต่านขอความช่วยเหลือ อังกฤษก็ได้ส่งกองทัพของตนที่ประจำการอยู่ในสิคโปร์เข้าไปทันทีหลังจากได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือ และนั่นก็ทำให้กลุ่มกบฏต้องเข้าต่อสู้กับทหารอังกฤษที่เข้ามาปราบและสลายการจลาจล การต่อสู้กันระหว่างอังกฤษและกลุ่มกบฏของบรูไนกินเวลานานหลายวัน ก่อนที่กลุ่มกบฏจะถูกปราบลงได้จากพลังของกองทัพอังกฤษ แกนนำกบฏถูกจับกุมหลายคน ส่วนอาซาฮารีนั้นสามารถหลบหนีไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์และเข้ามายังอินโดนีเซียได้ในที่สุด
กลุ่มทหารกบฏถูกจับกุมตัวโดยทหารอังกฤษในเขตเมืองเซอเรีย

   
กองทหาร Royal Green Jackets ของอังกฤษ
ล่องเรือผ่านแม่น้ำสายหนึ่งในบรูไนเพื่อปราบการจลาจล

 หลังการเกิดจลาจลรัฐบาลของอาซาฮารีถูกยุบ สุลต่านกลับมามีอำนาจอีกครั้งนึง ส่วนอาซาฮารีก็หมดอำนาจไปอย่างสิ้นเชิงแต่บทบาทของพรรคประชาชนบรูไนก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆแต่ไม่ได้มีบทบาทมากแบบตอนที่อาซาฮารีอยู่ และจากเหตุการณ์นี้เองก็ทำให้องค์สุลต่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างๆของมาลายาและไม่ขอเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาลายา ทำใหบรูไนเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษมาเรื่อยๆจนถึงปี 1954 ก็ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ ส่วนสองรัฐใกล้เคียงอย่างซาราวักกับซาบะฮ์ก็เข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาลายาในเวลาไม่นานหลังจากนั้น นอกจากนี้หลังวิกฤตินี้อินโดนีเซียได้อ้างถึงการที่มาลายเข้ามาแทรกแทรงการเมืองของรัฐบนเกาะบอร์เนียว และเป็นจุดเริ่มต้นให้ทางอินโดนีเซียและมาลายาเริ่มปะทะกันด้วยอาวุธในที่สุด



ถ้าผิดพลาดประการใด ผู้ทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และสามารถช่วยเสริมความถูกต้องได้ในคอมเม้นต์นะครับ





ถ้าชอบบทความของเราอย่าลืมคอมเม้น กดติตตามหรือกดแชร์บทความของเรานะครับ





สนับสนุนผู้ทำบทความได้้ที่ TrueMoney Wallet 0642303213 (ขอขอบพระคุณมากครับ)


อ้างอิง
Brunei revolt and the Indonesian ‘konfrontasi’ จากhttps://www.nst.com.my/news
Brunei revolt break out. จากhttp://eresources.nlb.gov.sg
มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์: ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย. จากhttps://prachatai.com
Brunei revolt. จากhttps://en.wikipedia.org
บรูไน ดารุสซาลาม : ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ รัฐสมัยใหม่. จากhttps://kyotoreview.org
การเมืองและการเลือกตั้งอาเซียน : บรูไน ดารุสซาลาม. จากhttp://www.fpps.or.th
กำเนิดและพัฒนาการของแนวคิด “เชื้อชาติมลายู” ในบริติชมลายา (2). จากhttps://prachatai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น