4/12/61

วิกฤตการณ์วังหน้า เหตุการณ์สำคัญช่วงต้นรัชสมัย ร.5



 ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์พยายามทำการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเหมือนชาติตะวันตก เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือภัยการล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมที่กำลังรุกรานเข้ามา ซึ่งในช่วงการปฏิรูปนั้นก็มีพวกขุนนางชาวสยามบางส่วนไม่เห็นด้วยเพราะขัดต่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งนั่นรวมถึงตระกูลบุนนาคและกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญซึ่งเป็นถึงวังหน้าด้วย


โดยตำแหน่งวังหน้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นตำแหน่งสำหรับอุปราชที่พระมหากษัตริย์แต่่งตั้งไว้เพื่อให้สืบทอดราชบัลลังก์สืบต่อไป โดยตำแหน่งวังหน้านี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังคงเป็นราชธานีอยู่ และอยู่ยงมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

   อ้าวละ พอรู้ที่มาของวังหน้าแล้ว ก็จะเล่าถึงวิกฤติการณ์วังหน้า ซึ่งจุดเริ่มต้นนั้นคงต้องเล่าถึงในช่วงก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จะสวรรคตไปไม่กี่วัน มีการประชุมขุนนางถึงการเฝ้นหาผู้ที่เหมาะสมในการสืบราชสมบัติต่อจากพระจอมเกล้า ซึ่งในที่ประชุมนั้นได้เลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ถัดไปต่อจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยในตอนนั้นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์อยู่ทางที่ประชุมจึงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขึ้นเป็นหัวหน้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปจนกระทั่งพระองค์บรรลุนิติภาวะ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาอะไรมาก แต่มันเริ่มมีปัญหาตรงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เสนอให้พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นรับตำแหน่งกรมพระราชบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งตามราชประเพณีเดิมจะมีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่แต่งตั้งอุปราชวังหน้าได้ ทำให้เกิดการโต้แย้งมากมาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพก็ทรงค้านถึงการแต่งตั้งอุปราชของนายช่วง บุนนาคว่า
"การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม"
แต่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ก็ทรงตอบกลับมาว่า
"ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ"
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ก็ทรงตอบกลับมาว่า
 "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" 
ซึ่งแม้จะมีการโต้แย้ง แต่ตามมติของที่ประชุม พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ถูกสถาปนาขึ้นเป็น กรมพระราชบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แม้จะผิดธรรมเนียมราชประเพณีไปก็ตาม แต่ก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่  25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์สุดท้ายของสยาม

   โดยในช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ยังคงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์อยู่ อำนาจของตระกูลบุนนาคมีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาล ตำแหน่งสำคัญๆ ของสยามตกอยุ่ภายใต้อำนาจของตระกูลบุนนาคแทนเหล่าขุนนางคนอื่นหรือพระบรมวงศานุวงศ์ แต่อำนาจของตระกูลบุนนาคก็ไม่ได้อยู่ยืนยงค้ำฟ้าเพราะท่านรัชกาลที่ 5 เจริญพระชันษาขึ้นเรื่อยๆ และมีความคิดริเริ่มปฏิรูปประเทศให้เจริญเท่าชาติตะวันตก ซึ่งท่านเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ว่านล้อมพระองค์ไม่ให้ทำการปฏิรูปโดยอ้างประสบการณ์อันยาวนานของท่าน แต่ถึงอย่างนั้นการปฏิรูปประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จากการร่วมมือของข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ตระกูลบุนนาคแตกออกเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วอนุรักษ์นิยมกับขั้วที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรลุนิติภาวะและสามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่แล้ว พระองค์เริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือตัวพระองค์เองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่ได้มีอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการพร้อมกลับไปพำนักที่ราชบุรีแล้ว ทำให้ขุนนางสายบุนนาคที่มีอำนาจใหญ่ๆเริ่มลดลง จนเหลือขั้วอำนาจใหญ่ของบุนนาคเพียงวังหน้าเท่านั้น

  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งระบบหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเก็บรวบรวมภาษีให้มาอยู่ ณ ที่เดียว ซึ่งการตั้งระบบหอรัษฎากรพิพัฒน์นั้นมันกระเทือนไปถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายๆคน ที่เคยเก็บรวบรวมภาษีและนำมาเป็นรายได้ของตัวพวกเขา แต่พอตั้งระบบนี้แล้วพวกขุนนางก็ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งกรมพระราชบวรสถานมงคลก็รับผลกระทบที่เกิดขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อก่อนกรมพระราชบวรเคยมีรายได้ถึง 1 ใน 3 ของเงินแผ่นดิน ซึ่งนั่นนำไปสู่ปฏิกริยาโต้ตอบที่กรมพระราชบวรเริ่มสะสมทหารและอาวุธ อันนำไปสู่ความระแวงซึ่งกันและกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า

เซอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษในตอนนั้น
 ทางวังหลวงพยายามหาวิธีที่จะกำจัดวังหน้าออกจากตำแหน่ง แต่ต้องทำโดยไม่ให้เกิดความรุนแรง และวังหน้าต้องทรงกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผิดอย่างรุนแรงก่อนด้วย ซึ่งดูเหมือนง่ายที่เพียงแค่วังหลวงสร้างสถานการณ์ก็อาจจะสามารถล้มวังหน้าได้แล้ว แต่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้นค่อนข้างระมัดระวังตัวอย่างมาก ทำให้ยากต่อการจับผิดหรือสร้างสถานการณ์ บวกกับที่กรมพระราชบวรนั้นมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษและมีความสนิทสนมกับเซอร์โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษในขณะนั้น ทำให้เพิ่มระดับการป้องกันตัวได้อีกแต่ว่ามันก็เหมือนกับเป็นดาบสองคม เพราะการที่วังหน้ามีความสนิทสนมกับชาวอังกฤษขณะนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดกับวังหลวงอีกเพราะมีข่าวลือว่า จะแบ่งสยามออกเป็นสามส่วนคือส่วนที่หนึ่ง คือกรุงเทพถึงเชียงใหม่และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครอง ส่วนที่สอง คือพื้นที่ระหว่างตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองไปจนถึงทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปกครอง และส่วนที่สาม คือทางใต้ โดยถือเอาตั้งแต่จากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองลงไปนั้น ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงปกครอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการแบ่งประเทศออกเป็นส่วน เพื่อง่ายในการยึดเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก


  แต่การระมัดระวังตัวอย่างสุดความสามารถของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็ต้องจบลง หลังการเกิดเพลิงไหม้ในพระบรมมหาราชวังในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2417 กรมพระราชวังบวรสั่งให้เหล่าทหารไปช่วยดับไฟในวังหลวง ซึ่งหลังจากเพลิงไหม้ได้ดับลงแล้ว พวกทหารวังหลวงก็ได้กล่าวหาทหารวังหน้าว่าจะทำการยึดอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งเร่งระดมพลเตรียมมไว้ก่อน ซึ่งทางกรมพระราชวังบวรเองก็เริ่มไหวตัวทัน เสด็จหนีไปอยู่อย่างกงสุลอังกฤษแม้จะประชวรด้วยโรคไขข้ออยู่ก็ตาม

  หลังจากที่กรมพระราชวังบวรเสด็จหนีไปประทับที่กงสุลอังกฤษ ทางวังหลวงได้พยายามทำการเจรจาให้กงสุลคืนตัวพระองค์มา และจะนิรโทษกรรมไม่ลงอาญาใดๆแก่กรมพระราชวังบวร แต่กรมพระราชวังบวรกลับปฏิเสธ และเรียกร้องให้ข้าหลวงอังกฤษมาไกล่เกลี่ย เมื่อเหตุการณ์เริ่มเลวร้ายลงทางวังหลวงจึงให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและทรงบอกไม่ให้พวกอังกฤษมาแทรกแซง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเมืองของทางสยาม วิกฤตการณ์วังหน้าจึงคลี่คลายลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2418

เหตุการณ์วิกฤติการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เริ่มจะปฏิรูปและดึงอำนาจมาสู่ศูนย์กลางอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนทางด้านวังหน้ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ท่านก็ยังคงดำรงตำแหน่งวังหน้าต่อจนถึงปี พ.ศ.2428 ซึ่งเป็นปีที่ท่านเสด็จทิวงคต หลังจากการทิวงคตของพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นวังหน้าอีกและยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป โดยแทนที่ด้วยตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารแทน

ถ้าผิดพลาดประการใด ผู้ทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และสามารถช่วยเสริมความถูกต้องได้ในคอมเม้นต์นะครับ



ถ้าชอบบทความของเราอย่าลืมคอมเม้น กดติตตามหรือกดแชร์บทความของเรานะครับ



สนับสนุนผู้ทำบทความได้้ที่ TrueMoney Wallet 0642303213 (ขอขอบพระคุณมากครับ)

อ้างอิง
วิกฤตการณ์วังหน้า https://th.wikipedia.org
ประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีในชั้นเรียน !! "วิกฤตการณ์วังหน้า" !! การต่อสู้ ขัดแย้งภายในประเทศ ระหว่าง "วังหลวง" กับ "วังหน้า" !! https://www.tnews.co.th
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ https://th.wikipedia.org
ย้อนอดีต ‘วังหน้า’ หนึ่งในพระราชวังที่รุ่งเรืองและสำคัญที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ https://thestandard.co
Looking back: Crisis at the Front Palace https://thethaiger.com
เพจ Facebook เกร็ดประวัติศาสตร์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น